สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวว่า หลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการท่องเที่ยว และต้องการผลักดันให้จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ เป็นศูนย์กลางการขนส่ง รองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต เพื่อการกระจายความเจริญสู่จังหวัดรอบกลุ่มอันดามัน จึงได้เร่งให้ดำเนินการลงทุนพัฒนาสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน
สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานอันดามันนั้น เดิมเคยมีการศึกษาว่าไว้แล้วในเบื้องต้นตามแผนแม่บทที่จะพัฒนาเป็นท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 บริเวณตำบลโคกกลอย จังหวัดพังงา บนพื้นที่ราว 6,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ เมื่อเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ทอท.จะเร่งดำเนินการหาและจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุน คาดว่าจะได้ที่ปรึกษาประมาณปลายปีนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาแผนประมาณ 8 เดือน
ทั้งนี้ภายหลังจากการศึกษาแล้วเสร็จก็จะดำเนินการในขั้นตอนออกแบบรายละเอียดการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตพื้นที่ทั้งหมด วิธีการก่อสร้าง งบประมาณ และ การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA หลังจากนั้นก็จะนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาขออนุมัติดำเนินการ และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ส่วนขั้นตอนการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และขั้นตอนการขออนุมัติ ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นก็จะดำเนินการในขั้นตอนเปิดประกวดราคา และดำเนินการก่อสร้างโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี รวมระยะเวลาในการดำเนินโครงการทั้งหมดประมาณ 7 ปี นับจากปี 2567 คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2573 – 2574
ขณะเดียวกันการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานอันดามันในเบื้องต้นนั้นอยากพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยาน 2 รันเวย์ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรองรับอากาศยาน และรองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางขนส่งกลุ่มจะหวังอันดามัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 70,000 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนเพียงรายเดียว เนื่องจากมีกระแสเงินสดเพียงพออยู่แล้ว ซึ่งการลงทุนก่อสร้างนั้นต้องแบ่งออกเป็น 2 ระยะ (เฟส) ในเฟสแรกก็อาจจะสร้างรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนก่อนขยายในเฟสที่ 2
“ผู้โดยสารของท่าอากาศยานภูเก็ตในปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 12 ล้านคนต่อปี ท่าอากาศยานกระบี่มีผู้โดยสารประมาณ 5 ล้านคนต่อปี รวมกันก็เป็น 17 ล้านคน ขณะที่ความต้องการการเดินทางมายัง ภูเก็ต กระบี่ และพังงามีมากกว่านี้ แต่สล็อตเต็มท่าอากาศยานรองรับไม่พอ ส่วนในอนาคตก็มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างสนามบินอันดามัน” นายกีรติ กล่าว
นอกจากนี้ทอท.มีแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ที่จะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับท่าอากาศยานอันดามัน แต่เชียงใหม่จะมีความยากกว่าเพราะที่ดินตรงพังงาส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งที่ดินเชียงใหม่เป็นที่ดินเอกชน การจัดหาที่ดินอาจจะยากและล่าช้า ที่ดินที่ศึกษาไว้ก็ยังเป็นพื้นที่เดิม คือ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ประมาณ 5,000 – 6,000 ไร่ วงเงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท หรืออาจจะแพงกว่าเชียงใหม่ 2 เพราะต้องลงทุนซื้อที่ดินทั้งหมด
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ