NEWS

CONSTRUCTION NEWS > พร้อมประมูล ต.ค.นี้! รถไฟสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง 2.3 หมื่นล้านบาท ส่วน Missing Link เร่งปรับแบบสถานีเชื่อมเข้า รพ.รามาฯ
พร้อมประมูล ต.ค.นี้! รถไฟสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง 2.3 หมื่นล้านบาท ส่วน Missing Link เร่งปรับแบบสถานีเชื่อมเข้า รพ.รามาฯ
08 June 2022 time 10:02

“คมนาคม” เช็กความพร้อมรถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง วงเงินกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท กางไทม์ไลน์เปิดประมูลได้ใน ต.ค. 65 เริ่มตอกเข็มปี 66 พร้อมสั่งเร่งช่วง Missing Link กว่า 4.4 หมื่นล้านบาท ลุยปรับแบบสถานีราชวิถีเชื่อมเข้าโรงพยาบาลรามาฯ ยึดโมเดลสถานีร่วม "ศิริราช" ให้ประชาชนเดินทางสะดวก คาดเปิดประมูลได้กลางปี 66

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามความพร้อมในการดำเนินการโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานความพร้อมและแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. สายสีแดงเข้ม ส่วนต่อขยายสายเหนือ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. มี 4 สถานี เงินลงทุน 6,570.40 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยายสายตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. มี 6 สถานี เงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี 6,645.03 ล้านบาท ได้ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ปี 2565 โดยตามไทม์ไลน์จะออกประกาศร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) เปิดประมูลในเดือน ต.ค. 2565 ใช้เวลาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 6-8 เดือน คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างประมาณเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2566 และเสนอ ครม.ขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานี วงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานี เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงมีโรงพยาบาลรามาธิบดี ดังนั้นจะใช้แนวคิดการพัฒนาสถานีในรูปแบบเดียวกับการพัฒนาสถานีศิริราช ของรถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ที่ประชาชนสามารถเชื่อมการเดินทางจากระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่อาคารรักษาพยาบาลได้สะดวกสบายไร้รอยต่อ โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยสถานีศิริราชมีทั้งรถไฟสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีเรือโดยสาร มีรถขนส่งสาธารณะ ดังนั้น แนวทางจะก่อสร้างทางเชื่อมจากรถไฟฟ้า ท่าเรือ เข้าอาคารโรงพยาบาลศิริราช

ส่วนสถานีราชวิถี โดยจะมีการปรับรูปแบบสถานีใหม่ให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก และยังมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และในบริเวณยมราชที่อยู่ใกล้เคียงจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านอีกด้วย ซึ่งจะต้องไปบูรณาการแบบร่วมกันว่าจะสามารถเชื่อมต่อกันอย่างไร เพื่อให้ผู้โดยสารเดินจากระบบหนึ่งไปสู่ระบบหนึ่ง หรือเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลฯ ได้โดยไม่ต้องออกมาเดินข้ามถนน เป็นการบูรณาการการใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายสีแดงช่วง Missing Link ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุดในการเดินทางเชื่อมต่อ

ปลัดคมนาคมกล่าวว่า รฟท.ประเมินว่าจะใช้เวลาในการปรับแบบรวมถึงกรณีที่อาจมีการปรับปรุงรายงาน EIA หากการปรับแบบมีผลเปลี่ยนแปลงจากรายงานฉบับเดิมอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าอาจจะประมูลหลังจากส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางแรกประมาณ 1 ปี 

นายชยธรรม์กล่าวถึงการเดินรถไฟสายสีแดงว่า กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาแนวทางที่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด คือ การมีประสิทธิภาพ สะดวก ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล ดังนั้นในส่วนของการเดินรถ จะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาร่วม PPP ซึ่งทางบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งเป็นเดินรถไฟสายสีแดงในปัจจุบัน สามารถเข้ามาแข่งขันได้


รายงานข่าวแจ้งว่า สายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน คาดเปิดให้บริการในปี 2569 ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน คาดเปิดให้บริการในปี 2570 ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) จะเริ่มก่อสร้างล่าช้ากว่า 3 เส้นทางแรกประมาณ 1 ปี ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 54 เดือน คาดเปิดให้บริการในปี 2571

ที่มา :: mgronline

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved