NEWS

CONSTRUCTION NEWS > การทางพิเศษฯ เตรียมชงบอร์ดเคาะ เดินหน้าแผนด่วนฉลองรัชฯ
การทางพิเศษฯ เตรียมชงบอร์ดเคาะ เดินหน้าแผนด่วนฉลองรัชฯ
23 May 2022 เวลา 16:01 น.

กทพ.เตรียมชงบอร์ด 24 พ.ค.นี้ เดินหน้าโครงการทางด่วนฉลองรัช - นครนายก - สระบุรี ประเดิมเฟสแรกทุ่ม 1.9 หมื่นล้านบาท สร้าง 17 กิโลเมตรเชื่อมวงแหวนรอบที่ 3 คาดเสนอ ครม.อนุมัติกลางปีนี้

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความพร้อมที่จะผลักดันอย่างมาก เนื่องจากผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ กทพ.จึงอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติในวันที่ 24 พ.ค.นี้ เพื่อเริ่มต้นเดินหน้าลงทุนโครงการ

“ตอนนี้ภาพรวมโครงการมีความพร้อมหมดแล้ว มีการจัดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนและส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ติดปัญหาอะไร ทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุนให้พัฒนาโครงการนี้ เบื้องต้นการทางฯ คาดว่าหากบอร์ดพิจารณาอนุมัติในการเสนอครั้งนี้ ก็จะสามารถเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ส.ค.ปีนี้ หรืออย่างช้าปลายปี2565”

รายงานข่าวจาก กทพ.ระบุุว่า แผนพัฒนาโครงการทางพิเศษสายดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะเริ่มจากจุดเชื่อมต่อจากทางพิเศษฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) บริเวณด่านจตุโชติมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ และถนนลำลูกกา ซึ่งจะสิ้นสุดบริเวณถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกรมทางหลวง (ทล.) มีระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร

โดยเบื้องต้นงานก่อสร้างระยะแรกนั้น กทพ.จะดำเนินการลงทุนพัฒนาเอง จัดใช้วงเงินลงทุนราว 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งปรับลดจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแบบก่อสร้าง และลดระยะทางไปได้ราว 2 กิโลเมตร ส่งผลให้วงเงินดังกล่าวเหลือแบ่งเป็น วงเงินค่าก่อสร้าง 1.74 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่ กทพ.จะลงทุนเอง และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.6 พันล้านบาท ที่ต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล

ขณะที่รูปแบบการลงทุนนั้น อาจจะใช้รูปแบบการออกพันธบัตรวงเงิน 1.74 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุดในขณะนี้ โดยประเมินว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 2-3% ส่วนเงินทุนที่ระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) ปัจจุบันได้นำมาใช้จ่ายดำเนินโครงการอื่นๆ แล้ว

ส่วนแผนพัฒนาในระยะต่อไป กทพ.จะทยอยลงทุนเมื่อมีการเปิดให้บริการระยะแรกแล้วและมีปริมาณการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น ระยะที่ 2 มีแนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณถนนวงแหวนรอบที่ 3-ทางหลวงชนบท นย.3001 ไปยังถนนรังสิต-นครนายก บริเวณด้านหลังศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร

ระยะที่ 3 แนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากถนนรังสิต-นครนายก ขึ้นไปทางเหนือ ตัดผ่านทางหลวง 33 (ถนนสุวรรณศร) บริเวณ กม.116+000 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และระยะที่ 4 เริ่มต้นจากถนนสุวรรณศร-ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี สิ้นสุดโครงการที่ถนนมิตรภาพ บริเวณ กม.10+700 อำเภอแก่งคอย สระบุรี ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร รวมวงเงินลงทุนทั้ง 4 ระยะประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 7.3 หมื่นล้านบาท และค่าเวนคืนประมาณ 7 พันล้านบาท

“โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี หากได้รับการอนุมัติจาก ครม.ในเดือน ส.ค.นี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มขั้นตอนเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างโครงการในปี 2567 และเปิดให้บริการในปี 2569 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าเปิดให้บริการในปี 2568”

อย่างไรก็ดี โครงการนี้ถือเป็นโครงข่ายทางพิเศษที่สำคัญ และมีความจำเป็นในการพัฒนา เนื่องจากจะเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาแก่ผู้ใช้เส้นทางที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และถนนพหลโยธิน รวมไปถึงระบบโครงข่ายถนนปัจจุบันที่แนวเส้นทางโครงการตัดผ่าน

ที่มา :: กรุงเทพธุรกิจ

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved