NEWS

CONSTRUCTION NEWS > ทอท.ดันเทอร์มินัลด้านเหนือหั่นลงทุนเหลือ 2.8 หมื่นล้าน ปรับใช้ในประเทศตัด APM ทิ้ง-สั่งรื้อ “ซิตี้การ์เด้น” เสร็จ ก.ค.นี้
ทอท.ดันเทอร์มินัลด้านเหนือหั่นลงทุนเหลือ 2.8 หมื่นล้าน ปรับใช้ในประเทศตัด APM ทิ้ง-สั่งรื้อ “ซิตี้การ์เด้น” เสร็จ ก.ค.นี้
23 April 2021 เวลา 10:37 น.

ทอท.ดันแผนสร้างเทอร์มินัลด้านเหนือปรับเป็นอาคารในประเทศ ลดขนาด ตัดระบบ APM หั่นค่าลงทุนเหลือ 2.8 หมื่นล้านบาท พร้อมแจ้ง “คิงเพาเวอร์” รื้อ “ซิตี้การ์เด้น” ใน ก.ค.นี้ เตรียมพร้อมสร้างอาคารตะวันออกตาม ป.ป.ช.แนะ คาดประมูลปลายปี 64

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ว่า ในการก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารนั้น ทอท.ได้เซ็นสัญญาจ้างสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ศึกษาทบทวน และ IATA ได้ทำรายงานฉบับแรกเสร็จแล้วเมื่อเดือน เม.ย. 64 ส่วนองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อยู่ระหว่างการเซ็นสัญญาจ้างศึกษาทบทวน ซึ่งคาดว่าจะนำข้อสรุปเสนอคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 29 เม.ย. แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงเลื่อนการประชุมออกไป คาดว่าจะไม่เกินเดือน พ.ค.

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ ทอท.ได้ข้อสรุปและมีการวิเคราะห์จาก IATA คาดการณ์ว่าสถานการณ์จำนวนผู้โดยสารจะกลับเป็นปกติในปลายปี 2566 (ตารางบินฤดูหนาว) โดยประเมินว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 60 ล้านคน/ปี ซึ่งช้าไปจากเดิมที่ ทอท.เคยคาดว่าผู้โดยสารจะกลับเป็นปกติช่วงปลายปี 2565 ในระหว่างนี้จึงควรเร่งก่อสร้างเพื่อขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสาร

ทอท.จะเสนอแนวทางการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ โดยก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันออก และด้านตะวันตก (East & West Expansion) และอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ทั้ง 3 โครงการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเป็น 120 ล้านคน/ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับขีดความสามารถของรันเวย์จำนวน 3 เส้นพอดี

โดยจะมีการปรับรูปแบบการใช้พื้นที่ใหม่ โดยใช้อาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศรองรับได้ 30 ล้านคน/ปี (จากเดิมใช้รองรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ) ส่วนอาคารผู้โดยสารเดิมและส่วนต่อขยายตะวันออกและตะวันตกจะใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศทั้งหมด มีขีดรองรับรวม 75 ล้านคน/ปี

การปรับอาคารด้านทิศเหนือรองรับผู้โดยสารภายในประเทศนั้น ทำให้สามารถลดขนาดอาคารและพื้นที่ใช้สอย 20% และไม่ต้องก่อสร้างรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) เพื่อขนส่งผู้โดยสารเพื่อเข้าไปยังอาคารเทียบเครื่องบินแต่อย่างใด ซึ่งส่งผลให้วงเงินลงทุนอาคารด้านเหนือลดลงจาก 41,260 ล้านบาท เหลือประมาณ 28,000-30,000 ล้านบาท หรือลดลง 30% เมื่อรวมกับการขยายอาคารด้านตะวันตก และตะวันออก ที่มีค่าก่อสร้างด้านละประมาณ 7,830 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินลงทุนทั้ง 3 อาคารประมาณ 46,000 ล้านบาท โดยมีขีดรองรับผู้โดยสารรวม 60 ล้านคน/ปี รวมกับอาคารเดิมและอาคาร SAT-1 จะทำให้สุวรรณภูมิรองรับได้ถึง 120 ล้านคน/ปี

นอกจากนี้ จะมีการลงทุนร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์เพื่อสร้างสถานีเพิ่มบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ซึ่งจะอยู่ก่อนสถานีสุวรรณภูมิ พร้อมทางเชื่อมเข้าอาคาร วงเงินลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าก่อสร้าง APM 2 สายตามแผนเดิม

“แนวทางนี้ดี เพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านใต้ ตามแผนแม่บทเดิม แม้จะทำให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 150 ล้านคน/ปี แต่ต้องลงทุนอีกกว่าแสนล้านบาท เพราะก่อสร้างรันเวย์ที่ 4 ซึ่งต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มอีกด้วย”

@แจ้งคิงเพาเวอร์รื้อซิตี้การ์เด้นภายใน ก.ค. 64

นายกีรติกล่าวว่า ทอท.พร้อมก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันออก เนื่องจากได้รับอนุมัติโครงการแล้ว มีเงินลงทุนและมีการออกแบบเสร็จแล้ว อีกทั้งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรทางวิชาชีพต่างๆ ส่วนโครงการซิตี้การ์เด้น ที่ตั้งอยู่ในจุดที่จะมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออกนั้น ทอท.ได้มีหนังสือถึงกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ให้ทำการรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2564 ดังนั้น คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออกได้ปลายปี 2564

ในขณะเดียวกัน จะเร่งออกแบบอาคารด้านตะวันตกและอาคารด้านเหนือคู่ขนาน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 8 เดือน คาดเปิดประมูลก่อสร้างปี 2565 แล้วเสร็จในปี 2567

ที่มา :: mgronline

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved