NEWS

CONSTRUCTION NEWS > สนข.ผุด W-MAP เส้นทางเดินเรือทั่วกรุงฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้า 10 สาย
สนข.ผุด W-MAP เส้นทางเดินเรือทั่วกรุงฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้า 10 สาย
23 February 2021 เวลา 13:24 น.

สนข.ผุดพิมพ์เขียว W-MAP เส้นทางเดินเรือคลองใน กทม.-ปริมณฑล 32 คลอง เป็นฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้า 10 สาย แก้รถติด คาดศึกษาเสร็จ พ.ย.นี้ ก่อนชง คจร.-ครม.เคาะสิ้นปี ดึงเอกชนลงทุนนำร่อง คลองมหาสวัสดิ์จับตา 2 ขาใหญ่ “BTSC-พลังงานบริสุทธิ์-เรือด่วนเจ้าพระยา

วันที่ 22 ก.พ. 2564 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมมิลเลนเนียมฮิลตัน กรุงเทพ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้รับอนุมัติงบประมาณ 33 ล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในกรุงเทพฯ และปริณฑล และเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น โดยร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.), กรมเจ้าท่า และกรมชลประทานในการจัดการและบริหารร่วม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ

@ศึกษา 32 คลองใน กทม.-ปริมณฑล ขอบเขตการศึกษาเป็นการศึกษาเส้นทางคลองในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล 32 คลอง ระยะทางรวม 492 กม. เพื่อกำหนดแนวเส้นทางที่เหมาะสม รูปแบบการลงทุน และการพัฒนาท่าเรือที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า โครงข่ายการเดินทางทางน้ำ (W-MAP)

โดยเป็นการเพิ่มเติมเส้นทางเดินเรือจากปัจจุบันที่มีเส้นทางเดินเรืออยู่ 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.คลองแสนแสบ ช่วงวัดศรีบุญเรือง – สะพานผ่านฟ้าลีลาศ 2.คลองผดุงกรุงเกษม ช่วงตลาดเทวราช – สถานีรถไฟหัวลำโพง 3.คลองภาษีเจริญ ช่วงประตูน้ำภาษีเจริญ – เพชรเกษม 69 4.คลองประเวศบุรีรมย์ (พระโขนง) ช่วงพระโขนง – ตลาดเอี่ยมสมบัติ และ 5.แม่น้ำเจ้าพระยา 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงปากเกร็ด – เอเชียทีค และช่วงสาทร – พระนั่งเกล้าเพิ่มจุดเชื่อมรถไฟฟ้าอีก 12 จุด

ทั้งนี้ แม้ว่า จะมีการเดินเรือในคลองต่าง ๆ ข้างต้น แต่ยังมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่าการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น โครงการนี้นอกจากจะสำรวจแนวเส้นทางเดินเรือใหม่ ๆ แล้ว จะเป็นการเสริมศักยภาพของเส้นทางเรือเดิมให้มากขึ้น

ส่วนเรือที่จะมาให้บริการก็อยากจะเน้นไปที่เรือไฟฟ้าเป็นหลัก และจะกำหนดจุดจอดของท่าเรือให้เชื่อมต่อกับระบบเดินทางอื่นทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์ของ ขสมก. โดยหากแผนนี้ได้รับการผลักดัน จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายทางได้มากขึ้นอีก 15 จุด จากปัจจุบันทั้ง 5 คลองมีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแล้ว 12 จุด รวมกันก็เพิ่มขึ้นสู่ 27 จุด

นำร่อง คลองมหาสวัสดิ์” โดยคลองที่คาดว่าจะเริ่มนำร่องตามแผนก่อนเป็นคลองแรก คือ คลองขุดมหาสวัสดิ์ ปัจจุบันในคลองแห่งนี้อยู่ใต้การดูแลของกรมชลประทาน การสัญจรไปมาไม่มีเรือโดยสารประจำ มีแต่เรือเหมานักท่องเที่ยว ซึ่งก็เหมารับคนเข้า-ออกคลองด้วยในช่วงเช้าและเย็น

ส่วนแนวคลองมหาสวัสดิ์จะขนานไปกับ ถ.บรมราชชนนี ซึ่งมีปริมาณจราจรหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน และในแนวคลองเส้นนี้ในอนาคตจะมีศักยภาพเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 2 สายเชื่อมต่อ ได้แก่ สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์

ชง คจร.-ครม.ภายในปี 2564 “คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2564 จากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้ความเห็นชอบ แล้วจึงจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2564“

แนะหลายหน่วยงาน มากความ ขณะที่ตัวแทนจาก บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เท่าที่รับฟังการนำเสนอ แม้จะเห็นภาพรวมของแผนและเส้นทางต่าง ๆ แต่จากการที่มีหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทั้งกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ อีก

“เกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาด้านข้อกฎหมายที่แต่ละหน่วยมีกฎหมายกำกับของใครของมัน ปัญหาของแผนจึงอยู่ที่ว่า เมื่อมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง จะบริหารอย่างไรให้แต่ละหน่วยขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ได้เป็นเอกภาพ”

และจากแผนดังกล่าว ไม่มีแผนรองรับว่า หากนำไปสู่การปฏิบัติแล้วไม่สำเร็จตามที่วางไว้จะดำเนินการอย่างไรต่อ? เพราะแนวโน้มของการดำเนินการคงให้เอกชนร่วมลงทุนแน่ ๆ หากจะให้เป็นแบบนั้น ก็ควรกลับไปวางแผนเผื่อเหลือเผื่อขาดต่าง ๆ ให้ดี

ทุนใหญ่ “BTSC-พลังงานบริสุทธิ์ดอดฟัง สำหรับเอกชนที่มารับฟังการนำเสนอแผนงานดังกล่าวมีหลายราย เช่น บจ.อีสมาร์ท ทรานสปอร์ตในเครือบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA), บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC), บจ.ไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ต๊อดยาร์ด, บจ.ไทย สมายส์ บัส, บจ.ครอบครัวขนส่ง (2002), บจ.กรุงเทพธนาคม, บจ. มาริอาร์ท (ประเทศไทย) และ บจ.เรือด่วนเจ้าพระยา

ที่มา :: ประชาชาติธุรกิจ

 

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved