NEWS

CONSTRUCTION NEWS > เวนคืน “ชลบุรี” ผุดทางด่วน 5.5 พันล้าน ขยาย “บางนา-บางปะกง” เชื่อม “นิคมอมตะ”
เวนคืน “ชลบุรี” ผุดทางด่วน 5.5 พันล้าน ขยาย “บางนา-บางปะกง” เชื่อม “นิคมอมตะ”
05 November 2020 เวลา 11:03 น.

เพื่อเป็นการทะลวงคอขวดการจราจรบนถนนสุขุมวิท บริเวณทางลงทางพิเศษบูรพาวิถี ด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น

ผสมผสานกับมีรถบรรทุกขนส่งสินค้าเข้า-ออกนิคมอุตสาหกรรมพระนครตลอดทั้งวัน โดยใช้เส้นทางถนนบ้านเก่ามุ่งหน้าไปยังถนนสุขุมวิท กลับรถที่ถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี เกิดแถวคอยสะสมไปตามถนนสุขุมวิทต่อเนื่องถนนภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีแผนลงทุนก่อสร้างต่อขยายทางด่วนบางนา-ชลบุรี หรือบูรพาวิถีกับถนนเลี่ยงเมืองชลบุรีซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการในแผนเร่งด่วนที่จะดำเนินการ

รูปแบบสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นจะเชื่อมต่อจากจุดสิ้นสุดทางด่วนบูรพาวิถีในปัจจุบัน จากนั้นแนวเส้นทางจะสร้างบนเกาะกลางถนนเทพรัตน หรือทางหลวงหมายเลข 34 ผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางชลบุรีในปัจจุบัน ผ่านจุดกลับรถเกือกม้า ผ่านเทสโก้ โลตัส พลัสมอลล์ และสิ้นสุดโครงการหน้านิคมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี 4.4 กม. มีทางขึ้น-ลง 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณบ้านเก่าและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี

และมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 ด่าน ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางชลบุรี-บ้านเก่า จำนวน 12 ช่อง สำหรับรถที่ขึ้นลงจากทางหลักของถนนเทพรัตนและถนนบ้านเก่า และด่านเก็บค่าผ่านทางเลี่ยงเมืองชลบุรี จำนวน 8 ช่อง สำหรับรถที่จะขึ้นลงจากทางหลวงหมายเลข 36 โดยด่านชลบุรี-บ้านเก่าเก็บค่าผ่านทางเท่าเดิม ส่วนด่านเลี่ยงเมืองชลบุรีจะเก็บตามระยะทางที่ใช้จริง

ทั้งโครงการมีมูลค่าการลงทุนรวม 5,498 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 311 ล้านบาท จะเวนคืนบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณถนนบ้านเก่า เป็นที่ดินจำนวน 45 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 10 ไร่ วงเงิน 285 ล้านบาท และจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี เป็นที่ดินจำนวน 18 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 3 งาน 69 ตารางวา เป็นเงิน 26 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 127 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 5,060 ล้านบาท โดยโครงการมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 20.345%

ตามแผน กทพ.จะดำเนินการคู่ขนานกันไป ตั้งแต่เสนอโครงการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ระหว่างเดือน ธ.ค. 2563-พ.ย. 2565 ออกแบบรายละเอียดเดือน ต.ค. 2563-ก.ค. 2564 ขออนุมัติดำเนินโครงการระหว่างเดือน ธ.ค. 2563-พ.ย. 2565 ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเดือน ธ.ค. 2564-พ.ค. 2565 เวนคืนที่ดินเดือน มิ.ย. 2565-พ.ค. 2567 ก่อสร้างเดือน ธ.ค. 2565-พ.ย. 2567 เปิดให้บริการเดือน ม.ค. 2568

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาการจราจรโดยรอบให้ทุเลาลงได้ จากปัจจุบันบนทางด่วนบูรพาวิถีมีประมาณการจราจรอยู่ที่ 48,000 คัน/วัน

ทางหลวงหมายเลข 3466 อยู่ที่ 36,000 คัน/วัน มอเตอร์เวย์สาย 7 อยู่ที่ 105,000 คัน/วัน ทางหลวงหมายเลข 34 อยู่ที่ 100,000 คัน/วัน ทางหลวงหมายเลข 3 อยู่ที่ 45,000 คัน/วัน

ทางหลวงหมายเลข 361 อยู่ที่ 102,000 คัน/วัน รวมถึงยังเป็นโครงข่ายสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอนาคตอีกด้วย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved