NEWS

CONSTRUCTION NEWS > รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยักษ์รับเหมาสู้หมัดต่อหมัด ตัดเชือกเกณฑ์ใหม่
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยักษ์รับเหมาสู้หมัดต่อหมัด ตัดเชือกเกณฑ์ใหม่
15 October 2020 เวลา 15:00 น.

นับเป็นรถไฟฟ้าอีก 1 สายทางที่มีประเด็นร้อนกลายเป็น ทอล์กออฟเดอะทาวน์ต่อเนื่อง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์ ) วงเงินรวม 235,320 ล้านบาท เค้กประมูลส่งท้ายปี 2563 มี รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ

สีส้มตะวันออกสร้างคืบ 70%

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีส้มเดินหน้าก่อสร้างช่วงตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี” ระยะทาง 22.57 กม. ไปแล้ว ล่าสุดมีความคืบหน้า 69.82% สร้างเร็วกว่าแผน 2.77% ตามสัญญางานก่อสร้างจะเสร็จปลายปี 2565 และจะเปิดให้บริการในปี 2567 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า

แต่การเปิดให้บริการในปี 2567 จะเป็นไปได้หรือไม่ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของโครงการ “ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ” ที่ รฟม.ประมูล PPP net cost เป็นแพ็กเก็จให้เอกชนลงทุน 1.28 แสนล้านบาท ก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตกและเหมาเดินรถตลอดสาย เป็นระยะเวลา 30 ปี จากบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทางรวม 35.9 กม. รัฐจ่ายค่าเวนคืนให้ 1.4 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน “รฟม.” อยู่ระหว่างเปิดประมูล มีเอกชนสนใจซื้อเอกสารประมูล 10 บริษัท ได้แก่

  1. บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
  2. บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)
  3. บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
  4. บมจ.ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น
  5. บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์
  6. บมจ.ราช กรุ๊ป จำกัด
  7. บมจ.ช.การช่าง จำกัด
  8. บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
  9. บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
  10. บจ.วรนิทัศน์ ดีเวลอปเม้นท์

ดูเหมือนกระบวนประมูลจะเดินหน้าฉลุย แต่แล้วกลับปรากฎความเคลื่อนไหวสำคัญขึ้น ที่ว่ากันว่าทำให้กลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ของสนามแข่งขันของรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ITD – BTS สู้เกมหลักเกณฑ์ใหม่

หลังเปลี่ยนประธานคณะกรรมการมาตรา 36  และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ พี่ใหญ่วงการรับเหมา สวมบทหัวใจสิงห์ ร่อนหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ รฟม. ให้พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอใหม่ ให้นำข้อเสนอ “ด้านเทคนิค” เข้ามาเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์หลัก นอกเหนือจากการตัดเชือกที่ “ราคาต่ำสุด” เพียงอย่างเดียว

ขณะที่ “รฟม.” และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 เห็นพ้องและปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกใหม่ เปิดซอง “เทคนิค-ราคา” พร้อมกัน โดยนำคะแนนเทคนิค 30% มาพิจารณาร่วมกับราคา 70%

พร้อมกับขยับวันยื่นซองออกไปอีก 45 วัน จากเดิมจะต้องยื่นซองในวันที่ 23 ก.ย. 2563 เป็นวันที่ 9 พ.ย. 2563 แทน เพื่อให้ผู้ซื้อซองสามารถเตรียมตัวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว

พลันที่ “รฟม.” ประกาศเกณฑ์ใหม่ ทาง “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” เดินสายยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ รฟม. และยื่นหนังสือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ให้จับตาการประมูลโครงการดังกล่าว

และยื่นต่อศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการมาตรา 36 และเอกสารตาม RFP ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอโครงการ และยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ระงับการดำนินการใด ๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการไว้ก่อน ซึ่งศาลฯนัดทั้งสองฝ่ายมาไต่สวนนัดแรกวันที่ 14 ต.ค. 2563

บีทีเอสกังขา 3 ประเด็น

“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี ได้ตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งในประเทศไทยไม่เคยมีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวประมูลมาก่อน โดยมีข้อกังขา 3 ข้อ ประกอบด้วย

  1. การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาแบ่งเป็นด้านการเงิน 70% และเทคนิค 30% มีความไม่ชอบมาพากล เพราะเมื่อดูไส้ในทีโออาร์แล้ว เป็นการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการมาตรา 36 มากเกินไป แถมการเปลี่ยนหลักเกณฑ์เกิดขึ้นภายหลังจากการซื้อซองทีโออาร์ ทำให้เห็นคู่ชกก่อนจะขึ้นเวที เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้น
  2. ในสัดส่วนการตัดสินด้านการเงิน 70% มีการแบ่งการให้คะแนนเป็นราคาที่ดีที่สุด 60% และราคาที่สมเหตุสมผลอีก 10% ซึ่งการใช้คำว่า “สมเหตุสมผล” ทางคณะกรรมการตามมาตรา 36 จะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาว่าราคาใดสมเหตุสมผล
  3. มีการกำหนดเรื่องของการมีประสบการณ์เพิ่มว่า ต้องเคยก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้า ซึ่งมี 3 บริษัทที่มีประสบการณ์โดยหนึ่งในนั้นมี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น ที่มีประสบการณ์ แต่ภายหลังทราบมาว่ามีการพูดกันว่า ต้องเคยทำอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ทำให้เหลือเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ที่เคยมีประสบการณ์ทางอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์เป็นไปได้ยาก เพราะตามทีโออาร์ให้หาพันธมิตรเฉพาะผู้ที่ยื่นซองทีโออาร์เท่านั้น

“ได้เตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงในนัดไต่สวนนัดแรกวันที่ 14 ต.ค.แล้ว ยืนยันว่ากระบวนการเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกโดยใช้คะแนนด้านเทคนิคพ่วงเข้ามาด้วย เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แถมใน RFP มีการระบุว่า หากเป็นผู้ประกอบการชาวไทยที่มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างอุโมงค์จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ จึงเห็นว่าการระบุเงื่อนไขและการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม” นายสุรพงษ์กล่าวและย้ำว่า

ทั้งนี้ หากศาลไม่คุ้มครองและให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเดิม กลุ่มบีทีเอสก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการตามเดิม เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ของบริษัท โดยจะร่วมกับพันธมิตรเดิม คือ ซิโนไทยฯ และราชกรุ๊ป

รฟม.เปิดโต๊ะแถลง 2 ครั้ง

ด้าน “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. ออกมาตอบโต้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา โดยยืนยันการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่า สามารถทำได้ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 มาตรา 35 และมาตรา 38 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 17.1 สอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน 2563 ข้อ 4 (8) และ 4 (9) และเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 อีกด้วย

เปิดทางพ่วงประสบการณ์ผู้รับจ้าง

สำหรับข้อกังวลว่าจะมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบ นั้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีข้อสรุปร่วมกันให้จัดทำเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) และขยายเวลายื่นซองประมูลออกไปอีก 45 วันให้แล้ว รวมถึงในทีโออาร์เปิดช่องให้ใช้ประสบการณ์ของผู้รับจ้างมาเพิ่มเติมลงไปในการยื่นซองประมูลได้ ไม่ได้บังคับเฉพาะผู้ซื้อซอง และมีเกณฑ์การตัดสินเท่าเทียมกัน

ไม่ระบุสเปกอุโมงค์ลอดเจ้าพระยา

ส่วนที่ระบุว่า ต้องเคยทำอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่เป็นความจริง ในทีโออาร์กำหนดเพียงว่า จะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินแบบหัวเจาะ (Underground Tunnel by Tunnel Boring Machine) ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า 5 เมตร ซึ่ในไทยมีบริษัทที่เคยทำประมาณ 4-5 ราย และยังไม่รับเหมาต่างชาติที่มีประสบการณ์อีกหลายบริษัทด้วย

“ยืนยันว่าทุกอย่างทำตามกฎหมายหลักและกฎหมายลูกอย่างถูกต้อง ทั้ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562, ประกาศทีโออาร์ และกฎหมายประกาศคณะกรรมการ PPP ส่วนประสบการณ์การก่อสร้างก็ไม่ได้เขียนเน้นว่าต้องเคยก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และกำหนดให้คะแนนผู้ประกอบการไทยมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นแต่อย่างใด” นายภคพงศ์กล่าว

ประยุทธ์ห่วงสร้างเสร็จช้า

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขอให้เป็นเรื่องของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง ถ้ามีปัญหาก็เอาหลักฐานและข้อมูลที่มีไปชี้แจงแล้วกัน เพราะสั่งอะไรไม่ได้

“ผมห่วงเรื่องก่อสร้างล่าช้า แต่ต้องทำให้ถูกต้อง ส่วนจะกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนโครงการใหญ่หรือไม่ ก็อยู่ที่คำชี้แจง ถ้าชี้แจงได้ก็จบ ก็ช่วยกัน ถ้ามีการรับผลประโยชน์ก็แจ้งมา และต้องดูผลประโยชน์ประชาชนด้วย”

ศักดิ์สยามย้ำความโปร่งใส

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาระบุว่า จากการรายงานของ รฟม.ก็ยืนยันดำเนินการอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้ โดยมีเอกสารยืนยันจาก สคร.ว่าปรับรายละเอียดได้และที่ผ่านมา รฟม.ประมูลรถไฟฟ้ามาหลายสายทั้งสีชมพู สีเหลือง สีม่วง สีน้ำเงิน ไม่ใช่โครงการสายสีส้มตะวันตกเป็นโครงการแรก แต่ก็อย่างไปปิดกั้นสิทธิในการตั้งข้อสังเกตต่างๆ รฟม.ต้องแสดงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งหมด

“รฟม.ยืนยันพร้อมจะรายงานข้อมูลทั้งหมดต่อศาลปกครองว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ใช่โครงการแรกที่มีการร้องเรียน ขอยืนยันว่าทุกโครงการที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการนั้นโปร่งใสตรวจสอบได้”

รับเหมาแบ่งเค้กสร้าง

ด้านแหล่งข่าวจากรับเหมาก่อสร้างกล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นการช่วงชิงสัมปทานเดินรถ 30 ปี มากกว่างานก่อสร้าง เพราะงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และรถไฟฟ้าในเมืองไทย มีรับเหมา 4-5 ราย ที่เป็นผู้ก่อสร้าง และไม่ว่าใคระจะชนะ ก็หนีไม่พ้นจะเป็นรับเหมาขาใหญ่ในวงการที่ได้สร้าง

“การทำธุรกิจไม่มีมิตรแท้และศักตรูที่ถาวร ดูได้จากสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม งานก่อสร้างอุโมงค์จาก ศูนย์วัฒนธรรม-หัวหมาก ที่มี 2 บิ๊กรับเหมาจับมือกันก่อสร้างมาแล้ว”

ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ เพราะงานนี้คงจะมีข้อโต้เถียงกันอีกยาว ถึงเกณฑ์การพิจารณาที่ใช้ “ดุลพินิจ” มากกว่าตัดเชือกกันที่ “ราคา” และอาจจะกระทบต่อไทม์ไลน์การก่อสร้างและการเปิดบริการ ล่าช้าออกไปได้ไม่มากก็น้อย

ที่มา :: ประชาชาติธุรกิจ

 

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved